กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
กรมอนามัย บรูณาการความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ) เพื่อหาแนวทางการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบ ให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout)
|
วันนี้ (27 มีนาคม 2568) เวลา 14.30 น. แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วยนายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ดร.นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ ร่วมต้อนรับ คณะกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ) ในการเข้าพบเพื่อหารือแนวทางความร่วมมือการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ณ ห้องประชุมสมบูรณ์ วัชโรทัย อาคาร 1 ชั้น 2 กรมอนามัย
โดยมีวัตถุประสงค์ : 1.เพื่อหาแนวทางการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) มิติสุขภาพ ตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 2.เพื่อหารือแนวทางการทำงานเชื่อมโยงมิติสุขภาพ ด้านการป้องกันพ่อแม่วัยใส การตั้งครรภ์ซ้ำและการส่งเสริมอาชีพ 3. เพื่อเชื่อมโยงกลไกหรือคณะกรรมการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบให้กลายเป็นศูนย์ ระดับประเทศ ระดับเขตสุขภาพ/จังหวัดและระดับท้องถิ่น 4.เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการเด็กไทยสายดีระดับเขตสุขภาพ และเพิ่มการคัดกรอง
ทั้งนี้ กรมอนามัย ได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา (Thailand Zero Dropout) ดังนี้
1. มอบนโยบายและสนับสนุนให้ทุกส่วนราชการในสังกัด ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์
2. สนับสนุนการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น ป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาความไม่พร้อมทางมิติด้านสุขภาพ ด้วยการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 พบว่า ปี 2567 นักเรียนหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี ที่คลอดบุตร ร้อยละ 63.43 ได้เรียนต่อในระบบ
3.สนับสนุนทรัพยากร อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ในการ สำรวจ ค้นหา ให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนป้องกันการออกนอกระบบการศึกษา ตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา รวมถึงการสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมและความช่วยเหลือทุกมิติ
4. สนับสนุนการเข้าถึงสิทธิทางสุขภาพ ร่วมบูรณาด้านการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตที่มีคุณภาพ และมีการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือ ส่งเสริมบทบาทครอบครัว ชุมชน และสถานประกอบกิจการในการสื่อสารสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น การเลี้ยงดูบุตรหลานและการสร้างสัมพันธภาพ
5.มีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตรเด็กและเยาวชนเพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือตลอดเส้นทางการเรียนรู้ ได้รับการปฏิบัติเป็นไปทิศทางที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม สติปัญญา เข้าถึงสิทธิประโยชน์หลักด้านส่งเสริมสุขภาพ อนามัยสิ่งแวดล้อม สุขาภิบาลอาหารและน้ำ ที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี มีศักยภาพพร้อมที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้