พ.ศ. 2461 – 2481
ภายหลังที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา กรมสาธารณสุข ขึ้นในกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2461
โดยมีกิจกรรมการสงเคราะห์แม่และเด็ก มีฐานะเป็นกิจการสาขาหนึ่ง ของกรมสาธารณสุข
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
พ.ศ. 2482 – 2484
ในปี พ.ศ. 2482 กิจการสงเคราะห์แม่ และเด็ก ได้ยกฐานะเป็น "แผนกสงเคราะห์แม่และเด็ก" ปี พ.ศ. 2485 ได้ยกฐานะเป็น"กองสงเคราะห์แม่และเด็ก"
ขึ้นกับกรมสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข
- ในปี พ.ศ. 2482 จัดตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์แห่งแรก คือ โรงเรียนผดุงครรภ์ ชั้น 2 วชิรพยาบาล รับสมัครสตรีอายุ 19 - 30 ปี พื้นความรู้สำเร็จประถมศึกษา ปีที่ 4 หลักสูตร 1 ปี กรมสาธารณสุข เป็นผู้ให้ทุน มีนักเรียนอบรมรุ่นแรก 80 คน เมื่อสำเร็จแล้ว ออกปฏิบัติงานยังภูมิลำเนาเดิม ในส่วนภูมิภาค อยู่ประจำสุขศาลา หรือที่เรียกว่า สำนักงานผดุงครรภ์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อโรงเรียนผดุงครรภ์ ชั้น 2 เป็น "โรงเรียนผดุงครรภ์อนามัย วชิรพยาบาล”
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
พ.ศ. 2485 – 2486
งานจัดตั้งหน่วยบริการ เพื่อเป็นสถานให้บริการอนามัยแม่และเด็ก แก่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ แม่ ทารกและเด็กวัยก่อนเรียน สถานบริการดังกล่าว ได้ก่อตั้งขึ้นตามลำดับ ดังนี้
- พ.ศ. 2493 – 2495 ได้จัดตั้งหน่วยสงเคราะห์แม่และเด็กเคลื่อนที่ขึ้น 10 หน่วย ได้แก่หน่วยรถยนต์ 9 หน่วย และหน่วยเรือยนต์ 1 หน่วย ในจำนวนนี้เป็นหน่วยที่กรมสาธารณสุขตั้งขึ้นเอง 5 หน่วย ได้รับความร่วมมือ จากองค์การสงเคราะห์เด็กแห่งประเทศไทย (UNAC) อีก 5 หน่วย ในปี พ.ศ. 2522 คงเหลือปฏิบัติงานแต่เพียง หน่วยอนามัยแม่ และเด็กเคลื่อนที่ จังหวัดยะลา
- พ.ศ. 2494 ได้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา วิชาผดุงครรภ์ เป็น 1 ปี 6 เดือน และรับผู้สมัครที่พื้นความรู้สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 3 หรือเทียบเท่า ป.7 ในปี 2511 และมีอายุระหว่าง 19–25 ปี
- พ.ศ. 2495 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม กระทรวงการสาธารณสุข จึงเปลี่ยนชื่อ เป็น กระทรวงสาธารณสุข และกรมสาธารณสุข เป็น กรมอนามัย
- พ.ศ. 2496 ได้จัดให้มีการอบรมผู้ตรวจการ นางสงเคราะห์ ระยะ 6 เดือน ณ โรงเรียนผดุงครรภ์วชิรพยาบาล ผู้เข้ารับการอบรมรุ่นแรก มีจำนวน 8 คน และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้มอบหมายให้ไปปฏิบัติงานยังจังหวัดต่างๆ เพื่อให้คำแนะนำ และควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อนามัย ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ในด้านการอนามัยแม่และเด็ก ได้แก่ พยาบาลอนามัย ผดุงครรภ์ เป็นต้น การอบรมชนิดนี้ ได้ทำอีกครั้งในปีต่อมา แต่หลังปี 2497 เป็นต้นมา ก็เปลี่ยนเป็นการให้ทุนการศึกษาวิชาพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย ปีละ 50 ทุน เพื่อผลิตพยาบาลอนามัย ออกประจำปฏิบัติงาน ณ สถานีอนามัยในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ การอบรมผู้ตรวจการ นางสงเคราะห์ ได้เริ่มดำเนินการใหม่ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2508 เป็นต้นมา โดยคัดเลือกพยาบาลอนามัย จากจังหวัดต่างๆ เข้ารับการอบรมปีละ 1 รุ่นๆ ละ 80 คน ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์จะให้ผู้ที่จบการอบรมช่วยแบ่งเบาภาระ ของพยาบาลอนามัยผู้นิเทศงาน จากส่วนกลาง
- พ.ศ. 2497
- สถานีอนามัยเด็กกลาง นนทบุรี ด้วยความร่วมมือขององค์การสงเคราะห์เด็กแห่งประเทศไทย (UNAC) และองค์การกองทุนสงเคราะห์เด็กระหว่างประเทศ แห่งสหประชาชาติ(UNICEF) เพื่อใช้เป็นสถานรับเลี้ยงเด็กวัยก่อนเรียน จากครอบครัวผู้ป่วยด้วยวัณโรค และโรคเรื้อน นำมาเลี้ยงดูเป็นการชั่วคราว เพื่อช่วยให้เด็กเจริญเติบโตขึ้น โดยสมบูรณ์ทั้งร่างกาย และจิตใจ
- ด้วยความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก และองค์การกองทุนสงเคราะห์เด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ได้จัดตั้งสถานสงเคราะห์แม่และเด็กขึ้น 2 แห่ง ที่ถนนสาธร จังหวัดพระนครแห่งหนึ่ง และที่ตำบลหนองหอย อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาใช้ชื่อว่า ศูนย์ฝึกและอบรมการอนามัยแม่และเด็ก กรุงเทพฯ และสถานอนามัยแม่และเด็ก เชียงใหม่หน่วยงานทั้งสองแห่งนี้ มีหน้าที่อบรมฟื้นฟูความรู้เจ้าหน้าที่อนามัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผดุงครรภ์ และเป็นศูนย์สาธิตการให้บริการอนามัยแม่และเด็กในเขตปฏิบัติการด้วย ปัจจุบันศูนย์ฝึกฯ กรุงเทพฯ ได้ถูกยกเลิกและได้รวมภาระกิจไว้ที่ศูนย์อนามัยที่ 1 กรุงเทพฯ สำหรับสถานอนามัยแม่ และเด็กเชียงใหม่ได้รวมภาระกิจไว้ที่ศูนย์อนามัย ที่ 10 เชียงใหม่ แต่สถานที่ที่ตำบลหนองหอย อำเภอสารภีได้เปลี่ยนเป็นศูนย์ทันตระหว่างประเทศ กองทันตสาธารณสุข
- จัดตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์เพิ่มขึ้นอีก 1 แห่งที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วยความร่วมมือ ขององค์การบริหารการร่วมมือระหว่างประเทศ แห่งสหรัฐอเมริกา โดยใช้หลักสูตรผดุงครรภ์ ปี 2503 มีนักเรียนเข้ารับการอบรมรุ่นแรก จำนวน 50 คน
- ได้จัดตั้งสำนักงานผดุงครรภ์ ชั้น 2 จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสำนักงาน แห่งแรกซึ่งจัดตั้งขึ้นและได้รับความร่วมมือจาก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดทั้งผู้ที่สนใจในกิจการสาธารณ-สุข โดยมีผดุงครรภ์ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่นั้นอยู่ประจำปฏิบัติการ ปรากฏว่า สำนักงานผดุงครรภ์ชั้น 2 แห่งนี้ได้ทำประโยชน์ด้านอนามัยแม่และเด็ก ให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบาย จัดตั้งสำนักงานผดุงครรภ์ในท้องที่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีสำนักงานผดุงครรภ์อยู่ทั้งสิ้น1,356 แห่ง และมีโครงการที่จะสร้างเพิ่มเติมขึ้น อีกปีละไม่น้อยกว่า 100 แห่ง ทั้งนี้เพื่อให้ทันต่อความต้องการของประชาชน
- ได้จัดตั้งสถานอนามัยเด็กกลาง นนทบุรี ขึ้นที่ถนนติวานนท์ ตำบลบาง-กระสอ อำเภอปากเกร็ด ด้วยความร่วมมือขององค์การสงเคราะห์เด็กแห่งประเทศไทย (UNAC) และองค์การกองทุนสงเคราะห์เด็กระหว่างประเทศ แห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เพื่อใช้เป็นสถานที่รับเด็กวัยก่อนศึกษา จากครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ วัณโรคและโรคเรื้อน นำมาเลี้ยงดูไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง และเพื่อที่จะช่วยให้เด็กได้เจริญเติบโตขึ้น โดยสมบูรณ์ทั้งร่างกาย และจิตใจ
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ท รงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหน่วยรถยนต์ให้ 1 หน่วย เริ่มปฏิบัติงาน เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2497 ที่วัดกุฎี ตำบลบางเค็ม อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเรือชื่อ " อเมริกา " เพื่อปรับปรุงเป็นหน่วยเรือ ในปีเดียวกันด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรถยนต์อีก 1 หน่วย ซึ่งเริ่มปฏิบัติงานที่ อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2499 ซึ่งในเวลาต่อมา เหลือปฏิบัติงานอยู่เพียงหน่วยรถยนต์ 2 หน่วย ซึ่งใช้ชื่อว่า หน่วยพระราชทานรักษาประชาชนเคลื่อนที่ เพชรบุรี - ประจวบคีรีขันธ์ และหน่วยพระราชทานรักษาประชาชนเคลื่อนที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- พ.ศ. 2503 โรงเรียนผดุงครรภ์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดลำปางโดยใช้ชื่อว่า " โรงเรียนผดุงครรภ์อนามัยลำปาง
- พ.ศ. 2504 จัดตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์แห่งที่ 3 ขึ้น ที่จังหวัดขอนแก่น ใช้หลักสูตรปี 2503 เช่นเดียวกัน รับนักเรียนเข้าอบรมเป็นรุ่นแรก จำนวน 30 คน โดยใช้ชื่อว่า "โรงเรียนผดุงครรภ์ขอนแก่น" รับนักเรียนเข้าอบรมได้รุ่นละประมาณ 50 คน ซึ่งต่อมาได้ปรับปรุงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์อนามัยแม่และเด็ก เขต4 จังหวัดขอนแก่น
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
พ.ศ. 2507 – 2516
กองสงเคราะห์แม่และเด็ก ได้เปลี่ยนชื่อเป็น " กองอนามัยแม่และเด็ก " ในปี พ.ศ. 2507 รับผิดชอบงานอนามัยแม่และเด็ก และงานวางแผนครอบครัว และแบ่งการบริหารงานในส่วนกลาง ดังนี้ แผนกธุรการ แผนกฝึกอบรมและนิเทศ แผนกวิจัยและประเมินผล แผนกประชาสัมพันธ์ และในปีเดียวกันนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กแห่งชาติ เพื่อร่วมมือกันวางนโยบายเกี่ยวกับการอนามัยแม่และเด็ก ทั้งในด้านการฝึกอบรมนักเรียนแพทย์ และเจ้าหน้าที่อนามัย ตลอดจนวิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อันอาจมีขึ้น คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ และหัวหน้ากองอนามัยแม่และเด็ก เป็นกรรมการและเลขานุการ นอกจากนี้ได้จัดตั้ง "โครงการอนามัยแม่และเด็ก" เพื่อลดอัตราการป่วย และการตายของแม่ และเด็กให้ลงสู่ระดับต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ งานโครงการแยกออกเป็น 3 ประเภทคือ
ก) การฝึกอบรมบุคลากรผู้รับผิดชอบ งานอนามัยแม่และเด็ก และอบรมผดุงครรภ์โบราณ
ข) การให้บริการอนามัยแม่และเด็ก
ค) การนิเทศงานอนามัยแม่และเด็ก ในส่วนภูมิภาค
- พ.ศ. 2508 ปรับปรุงหลักสูตรผดุงครรภ์ปี 2503 เป็นหลักสูตรผดุงครรภ์อนามัย ปี 2508 ซึ่งก้าวหน้าขึ้นทางด้านวิชาการ และปฎิบัติการ มีระยะเวลาการศึกษา 1 ปี 6 เดือน เช่นเดียวกับหลักสูตรปี 2503 แต่ผู้สมัครจะต้องมีพื้นความรู้สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 วัตถุประสงค์ของการปรับปรุงครั้งนี้ นอกจากจะเพิ่มหัวข้อวิชาการ เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึษา สามารถปฏิบัติงานได้ในแบบอเนกประสงค์แล้ว ยังมุ่งที่จะช่วยให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษา ได้มีโอกาสบรรจุเข้าเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นจัตวา ตำแหน่งผดุงครรภ์อนามัยแทนที่จะเป็นข้าราชการวิสามัญ ตำแหน่งผดุงครรภ์ดังเดิม โรงเรียนผดุงครรภ์อนามัยทั้ง 3 แห่งใช้หลักสูตรผดุงครรภ์อนามัยปี 2508 ฉบับเดียวกัน
- พ.ศ. 2509 ได้จัดตั้งศูนย์อนามัยแม่และเด็ก แห่งแรกขึ้น ที่จังหวัดยะลา
- พ.ศ. 2510
-
กองอนามัยแม่และเด็ก ได้ตั้งโรงเรียนผู้ช่วยพยาบาลขึ้น ณ ศูนย์อนามัยแม่และเด็ก จังหวัดขอนแก่น เพื่อดำเนินการผลิตผู้ช่วยพยาบาลออกประจำปฎิบัติงาน ณ สถานีอนามัยชั้น 1 ในจังหวัดต่างๆ โดยใช้หลักสูตรการศึกษาวิชาผู้ช่วยพยาบาลระยะเวลา 1 ปี เริ่มทำการอบรมรุ่นแรก ในเดือนสิงหาคม 2510 มีจำนวนผู้เข้ารับการอบรม 30 คน และมีโครงการที่จะอบรมเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะผลิตผู้ช่วยพยาบาล ประจำสถานีอนามัยชั้น 1 ให้ครบทุกแห่ง จากการศึกษาท่าที และแนวโน้มของประชาชนในการรับบริการวางแผนครอบครัว ตลอดจนศึกษาถึงความเหมาะสมในทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ได้ทำโครงการวิจัยที่อำเภอโพธาราม และเขตทดลองอื่น ๆ แล้ว รัฐบาลจึงเห็นความสำคัญของการวางแผนครอบครัว และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านนี้ ดังนั้น เมื่อ พ.ศ. 2511 ได้มีการปรับปรุงการบริหารงานโครงการอนามัยครอบครัวของ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วยงานฝึกอบรม งานบริการอนามัยครอบครัว งานวิจัยประเมินผล และงานศึกษาสภาพเวชภัณฑ์ ขึ้นเป็น "โครงการวางแผนครอบครัว" โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้อำนวยการโครงการ และรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองผู้อำนวยการ
-
ได้ปรับปรุงโรงเรียนผดุงครรภ์อนามัย ขอนแก่น ให้เป็นศูนย์อนามัยแม่และเด็กเขต 4 จังหวัดขอนแก่น และจัดสร้างศูนย์อนามัยแม่และเด็กเขต 7 จังหวัดราชบุรี เป็นศูนย์ฯ แห่งที่ 3
- พ.ศ. 2511 กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินจัดตั้งโครงการ 3 ปี สำหรับโครงการอนามัยครอบครัว ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์ ที่จะเตรียมรับนโยบายทางด้านประชากรของรัฐบาลในอนาคต โดยการขยายการให้บริการวางแผนครอบครัว ออกไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในระยะปี 2511-2513 ได้จัดให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในเรื่องการวางแผนครอบครัวและความรู้เกี่ยวกับประชากรศาสตร์ ทั้งนี้ โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ ของกรมอนามัยที่อยู่ในชนบททุกคน แพทย์ และพยาบาล จากโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคจังหวัดละ 1 คน เป็นอย่างน้อย จะต้องเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ หลังเสร็จสิ้นการอบรมแล้ว เจ้าหน้าที่เหล่าน ี้จะได้เปิดให้บริการวางแผนครอบครัวขึ้นที่หน่วยงานซึ่งตนประจำอยู่ ได้แก่ โรงพยาบาลภูมิภาค และสถานีอนามัยชั้น 1 ที่มีแพทย์ประจำทุกแห่ง ดังนั้นการวางแผนครอบครัว จึงต้องให้มีบริการรวมไปกับการให้บริการทางด้านอนามัยที่มีอยู่แล้ว โดยที่ไม่ได้เพิ่มเจ้าหน้าที่ หรือใช้เงินพิเศษเพิ่มแต่ประการใด การดำเนินงานวางแผนครอบครัวถือเป็นการให้บริการด้านอนามัยทั่ว ๆ ไปเท่านั้น มิได้มีการตั้งเป้าหมายจำนวนผู้รับบริการที่แน่นอนหรือมีศูนย์ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ สำหรับงานด้านวางแผนครอบครัวโดยเฉพาะ ในระยะ 3 ปีแรก ได้ดำเนินการอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ระดับต่าง ๆ เกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว แพทย์ 330 คน พยาบาล 700 คน และผดุงครรภ์ 3,090 คน พนักงานอนามัย 1,985 คน ในการให้บริการอนามัยครอบครัวแก่ประชาชน โดยถือหลัก การเผยแพร่การอนามัยครอบครัว จะไม่ใช้สื่อมวลชน แต่จะใช้วิธีให้สุขศึกษาเป็นกลุ่มย่อย บริการอนามัยครอบครัว ให้แก่ผู้รับบริการเฉพาะแต่สตรี ที่สมัครใจขอรับบริการเท่านั้น บริการอนามัยครอบครัว จะให้แก่ผู้ขอรับบริการโดยไม่คิดมูลค่า เว้นเสียแต่ผู้ขอรับบริการ จะสมัครบำรุงโดยตนเอง
-
พ.ศ. 2513 (17 มีนาคม 2513) คณะรัฐมนตรี ได้ลงมติเห็นชอบด้วย ในการกำหนดนโยบายประชากรของประเทศ ความว่า "รัฐบาลมีนโยบายที่จะสนับสนุน การวางแผนครอบครัวด้วยระบบสมัครใจ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับอัตราเพิ่มของประชากรที่สูงมาก ที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ" และคณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบ ในการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้น เพื่อทำการศึกษาและประสานงาน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดำเนินการวางแผนครอบครัว
-
พ.ศ. 2514 กระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มงานวางแผนครอบครัวอย่างจริงจัง โดยเร่งรัดการอบรมเจ้าหน้าที่เผยแพร่ และให้บริการแก่ประชาชน ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคอนุญาตให้ผดุงครรภ์จ่ายยาคุมกำเนิดได้ ซึ่งมีผลให้สถานบริการยาเม็ดคุมกำเนิด ที่ไม่มีแพทย์ประจำเพิ่มขึ้น และจำนวนผู้รับบริการยาเม็ดคุมกำเนิดเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการบริการที่โรงพยาบาล และสถานีอนามัยทุกแห่ง ตลอดจนส่งหน่วยเคลื่อนที่ออกปฏิบัติการ ในด้านการสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ เริ่มใช้สื่อมวลชนและหน่วยสุขศึกษาเคลื่อนที่ ออกเผยแพร่และให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว อย่างไรก็ตามยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายผู้รับบริการเป็นที่แน่นอน จนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 งานวางแผนครอบครัว จึงได้รับการบรรจุเข้าเป็นงานหลักอีกงานหนึ่งของแผนพัฒนาการสาธารณสุข
ศูนย์อนามัยแม่และเด็กชนบทที่ 41 เมืองพล จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นศูนย์ชนบท ของศูนย์อนามัยแม่และเด็กเขต 4 โดยเทศบาลยินยอมให้ปรับปรุงสถานีอนามัยชั้น 1 ของเทศบาลเป็นสถานที่ทำการศูนย์ -
พ.ศ. 2516 กองอนามัยแม่และเด็ก ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น กองอนามัยครอบครัวซึ่งได้รวมงานอนามัยแม่และเด็ก และ งานวางแผนครอบครัวเข้าด้วยกัน
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
พ.ศ. 2539
ได้รวมกองอนามัยครอบครัวและกองอนามัยโรงเรียน และปรับฐานะขึ้นเป็น สำนักส่งเสริมสุขภาพ โดยมีหน่วยงาน ดังนี้
- ฝ่ายบริหารงานทั่วไป
- ส่วนแผนงานและประเมินผล
- ส่วนอนามัยแม่และเด็ก
- ส่วนอนามัยเด็กวัยเรียนและเยาวชน
- ส่วนอนามัยวัยทำงานและผู้สูงอายุ
- ส่วนออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
- ส่วนสนับสนุนงานศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ
- ส่วนอบรมและเผยแพร่
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
พ.ศ. 2545 (ปีงบประมาณ 2546)
ได้มีการปฎิรูปส่วนราชการใหม่ สำนักส่งเสริมสุขภาพ ได้ปรับเปลี่ยนส่วนงานใหม่ ดังนี้
- ฝ่ายบริหารทั่วไป
- กลุ่มสนับสนุนวิชาการ
- กลุ่มอนามัยแม่และเด็ก
- กลุ่มอนามัยเด็กวัยเรียนและเยาวชน
- กลุ่มอนามัยวัยทำงาน
- กลุ่มอนามัยผู้สูงอายุ
- กลุ่มสร้างเสริมศักยภาพเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ
- หน่วยประสานศูนย์อนามัยเขต และกิจการพิเศษ
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
พ.ศ. 2560 (ปีงบประมาณ 2560)
ได้มีการปฎิรูปส่วนราชการใหม่ สำนักส่งเสริมสุขภาพ ได้ปรับเปลี่ยนส่วนงานใหม่ ดังนี้
- กลุ่มอำนวยการ
- กลุ่มบริหารยุทธศาสตร์
- กลุ่มอนามัยแม่และเด็ก
- กลุ่มอนามัยเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น
- กลุ่มอนามัยวัยทำงาน
- กลุ่มสร้างเสริมศักยภาพเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ
- กลุ่มพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์
- กลุ่มสนับสนุนวิชาการวิจัย
- หน่วยประสานศูนย์อนามัยเขต และกิจการพิเศษ
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
พ.ศ. 2566 ถึงปัจจุบัน (ปีงบประมาณ 2566)