การประชุมคณะกรรมการจัดทำและติดตามรายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพไทย
ครั้งที่ 4/2567
|
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย และนายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ ได้มอบหมายให้ทันตแพทย์หญิงศิรดา เล็กอุทัย ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านทันตสาธารณสุข) รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการจัดทำและติดตามรายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพไทย ครั้งที่ 4/2567 โดยมี นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานการประชุม ประเด็นสำคัญจากการประชุม มีดังนี้
- ประเด็นถกเถียงกันเกี่ยวกับการพัฒนาตัวชี้วัดในรายงานระบบสุขภาพ เช่น ความหลากหลายและความลักลั่นของตัวชี้วัดในแต่ละหมวด ความครอบคลุมของข้อมูล ความเหมาะสมของตัวชี้วัด ความเป็นไปได้ในการติดตามและประเมินผล บทบาทของคณะกรรมการและอนุกรรมการ
- การอภิปรายเกี่ยวกับตัวชี้วัดใน 4 หมวด ได้แก่ หมวดการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ หมวดการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ หมวดการเงินการคลังด้านสุขภาพ หมวดระบบสุขภาพชุมชนเมือง
- การหารือกระบวนการทำงานและทิศทางการจัดทำรายงานในอนาคต เช่น กรอบเวลาการดำเนินงาน ความต่อเนื่องของการจัดทำรายงาน การเปรียบเทียบกับระดับสากล และการนำรายงานไปใช้ประโยชน์
- การพิจารณา กลุ่มตัวชี้วัดหลัก 5 กลุ่ม โดยเน้นไปที่การพัฒนาตัวชี้วัดเพื่อติดตามและจัดทำรายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพไทย ประกอบด้วย กลุ่มตัวชี้วัดด้านกฎหมาย กลุ่มตัวชี้วัดด้านการเฝ้าระวัง กลุ่มตัวชี้วัดด้านการชดเชยความเสียหาย กลุ่มตัวชี้วัดด้านองค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภค กลุ่มตัวชี้วัดด้านฐานข้อมูลแจ้งเตือนภัย
- ปัญหาหลักในการรวบรวมข้อมูลสำหรับรายงานดัชนีความเป็นธรรมทางสังคม เช่น ความแตกต่างของฐานข้อมูล วิธีการรวบรวม และ ช่วงเวลาการจัดเก็บข้อมูล ความครอบคลุมของข้อมูล การเข้าถึงข้อมูล ความล่าช้าของข้อมูล และการขาดข้อมูล
- รายงานดัชนีความเป็นธรรมทางสังคม ประเทศไทย ปี 2567 ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยทำได้ดีใน
มิติสุขภาพ โดยได้คะแนน 5.5 คะแนน ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับมิติอื่นๆ สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้คะแนนสูงในมิติสุขภาพ คือ นโยบายด้านสุขภาพที่ดี อัตราการรอดชีวิตของทารกแรกเกิดและในช่วง 1,000 วันแรก อายุขัยเฉลี่ยของประชากรที่สุขภาพดี ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพตามจริงค่อนข้างต่ำ
โดยสรุปแล้ว การพัฒนาตัวชี้วัดในรายงานระบบสุขภาพ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งที่ประชุมได้มีการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ได้ตัวชี้วัดที่เหมาะสม สะท้อนถึงระบบสุขภาพของประเทศไทย และสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงระบบสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเป็นธรรมมากขึ้น