กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
การตรวจเยี่ยมเสริมพลังและรณรงค์ “กินเจ อนามัย ห่างไกล NCDs”
|
วันนี้ (2 ตุลาคม 2567) นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย และผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ ร่วมเป็นเกียรติการตรวจเยี่ยมเสริมพลังและรณรงค์ “กินเจ อนามัย ห่างไกล NCDs” โดยมี นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมด้วย แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย นายภิญโญ ทองเจือ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บางกอกแลนด์ เอเจนซี่ จำกัด ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารเมืองทองธานีเข้าร่วมงาน ณ ลานเอาท์เล็ท สแควร์ เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปีนี้ช่วงเทศกาลกินเจ กำหนดในช่วงวันที่ 3 - 11 ตุลาคม 2567 ซึ่งชาวไทยเชื้อสายจีนและประชาชนสนใจบริโภคอาหารเจเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการดูแลประชาชนให้มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ มีความมั่นคงทางสุขภาพ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจ และสร้างความตระหนักด้านสุขอนามัยแก่ ผู้ประกอบกิจการอาหารในทุกขั้นตอนของการผลิตจนถึงผู้บริโภค รวมถึงสามารถเลือกซื้อและล้างผัก ผลไม้ ให้สะอาด ปลอดภัย นอกจากนี้ ก่อน "กินเจ" ขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ปรับระบบของร่างกายก่อนกินเจ 2 – 3 วัน โดยการเพิ่มผักในมื้ออาหารให้มากขึ้น ลดเนื้อสัตว์ให้ร่างกายได้ปรับตัว รวมถึงสุขอนามัยในการปรุงประกอบอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อห่างไกล NCDs เนื่องจากการปรุงอาหารเจจำหน่าย มักปรุงประกอบในปริมาณมาก ซึ่งพบความเสี่ยง เช่น อาหารที่ปรุงไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ทั้งนี้ การเลือกซื้ออาหารเจ ควรคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการ สำหรับการปรุงประกอบอาหารเจที่ดีควรเน้นประเภทนึ่ง ยำ ต้ม ตุ๋น อบ หลีกเลี่ยงการผัด ทอดที่ใช้น้ำมันท่วม ลดวัตถุดิบอาหารเจที่เป็นอาหารแปรรูปที่มีส่วนผสมของเครื่องปรุงรสจัด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เช่นกัน อีกทั้ง เน้นความสะอาดความปลอดภัย พิจารณาราคาที่เหมาะสม และขอความร่วมมือร้านค้าลดการใช้โฟมบรรจุอาหารเปลี่ยนเป็นใช้ภาชนะจากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้แทน พร้อมเน้นย้ำผู้บริโภคคุมเข้มพฤติกรรมกินอาหารปรุงสุกใหม่ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือ เพื่อเป็นเกราะป้องกันโรค
ด้าน แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยแนะนำหลัก 4 ล.เพื่อสุขภาพที่ดี ได้แก่ 1) ล : เลือก ได้แก่ การเลือกวัตถุดิบ ในการปรุงประกอบอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และเลือกกินอาหารจากร้านอาหารที่สะอาด ผ่านมาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร ภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ แซน (SAN) และ แซนพลัส (SAN Plus) หรือที่มีสัญลักษณ์เมนูชูสุขภาพ เช่น ผักสด ผลไม้ โปรตีนเกษตร มาจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ 2) ล : ล้าง ได้แก่ การล้างวัตถุดิบ ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด ก่อนกินหรือก่อนนำผักและผลไม้มาปรุงอาหารต้องล้างให้สะอาดทุกครั้งด้วย 3 วิธี ดังนี้ วิธีที่ (1) การล้างด้วยน้ำไหล สามารถลดสารพิษได้ ร้อยละ 25-65 วิธีที่ (2) การล้างด้วยผงฟู หรือเบคกิ้งโซดาช่วยลดสารพิษได้ถึง ร้อยละ 90-95 และ วิธีที่ (3) การล้างด้วยน้ำส้มสายชู ช่วยลดสารพิษได้ ร้อยละ 60-84 และยังสามารถล้างไข่พยาธิได้ และล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ โดยเฉพาะมือของ ผู้ปรุง ผู้เสิร์ฟ และผู้บริโภค ควรหมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ ด้วยวิธีการ 7 ขั้นตอน เพื่อป้องกันและหยุดการแพร่โรค ซึ่งคำขวัญวันล้างมือโลก ประจำปี 2567 ในวันที่ 15 ตุลาคม 2567 คือ “มือสะอาดสำคัญอย่างไร : Why are clean hands still important?” 3) ล : เลี่ยงอาหารที่มีแป้งและไขมันมาก อาหารเจส่วนใหญ่ ประกอบด้วย แป้ง ธัญพืช ถั่ว งา เต้าหู้ อาจทำให้ขาดโปรตีนและธาตุเหล็กได้ จึงควรเลือกพืชที่ทดแทนโปรตีน ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง โปรตีนเกษตร และผักใบเขียวเข้ม ซึ่งมีธาตุเหล็กสูง นอกจากนี้ ควรเลือกผักผลไม้ให้หลากสี เพื่อให้ได้วิตามินและแร่ธาตุครบตามที่ร่างกายต้องการ 4) ล : ลด หวาน มัน เค็ม การปรุงอาหารเจที่ดี ไม่ควรหวานจัด เค็มจัด มันจัด ควรปรุงอาหารเจด้วยการต้ม นึ่ง เน้นกินอาหารครบ 5 หมู่ ผัก ผลไม้ให้หลากหลาย ให้ได้บุญได้กุศลจากการละเว้นเนื้อสัตว์ รวมทั้งสร้างสุขภาพที่ดี ลดหวาน มัน เค็ม เสริมโปรตีน จากถั่ว การกินอาหารเจที่ดียังคงต้องเน้นกินอาหารครบ 5 หมู่ นอกจากการกินผักให้หลากหลายแล้ว สามารถกินโปรตีนเกษตรทดแทนได้ ที่สำคัญ คือ ต้องไม่เค็ม ไม่หวาน ไม่มัน มากเกินไป ซึ่งอาหารเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อ (NCDs)” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว