กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เยี่ยมชมกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และห้องออกกำลังกาย FITNESS CENTERS พร้อมทั้ง อาคารบ้านรื่นรมย์ Elderly Day Care Center
|
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย และผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ ร่วมต้อนรับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เยี่ยมชมกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และห้องออกกำลังกาย FITNESS CENTERS พร้อมทั้ง อาคารบ้านรื่นรมย์ Elderly Day Care Center ชูนโยบาย ออกกำลังกายวันจันทร์ ‘มันส์เดย์’ ชวนขยับ ผ่านเพลง LONG LIFE…THAI FIT ฟิตกาย ฟิตใจ ทั่วไทย ส่งเสริมสุขภาพคนไทย ป้องกันโรค NCDs โดยมี นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย ดร.นายแพทย์ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหารกรมอนามัยร่วมต้อนรับ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 4 ของสาเหตุการเสียชีวิตของประชาการโลก เนื่องจากการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ นำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยพบว่า การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตทั่วโลก 3.2 ล้านคนต่อปี และคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สูงถึงร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตทั้งหมด และจากการสำรวจการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2565 พบว่าประชากรไทย มีแนวโน้มการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระหว่างปี 2563 พบว่าข้อมูลการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564 มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 63.0 ซึ่งในปี 2565 ลดลงเป็น ร้อยละ 62.0 ชี้ให้เห็นได้ว่า ปัจจัยลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจและสังคม อันได้แก่ ช่วงวัย ระดับการศึกษา ความรอบรู้สุขภาพ มีอิทธิพลที่ส่งผลต่อระดับการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการขับเคลื่อนประเด็นส่งเสริมสุขภาพกายโดย เชิญชวนประชาชนออกกำลังกายทุกวัน เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 75 ในปี 2573 เพิ่มโอกาสให้ประชาชน มีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางอย่างน้อย 150 – 300 นาที ต่อสัปดาห์ โดยเริ่มผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมสุขภาพกาย “ออกกำลังกายวันจันทร์มันส์เดย์” ใน 4 setting ได้แก่ สถานศึกษา องค์กรภาครัฐ สถานประกอบการ และชุมชน โดยผลิตสื่อองค์ความรู้ วิดิทัศน์ด้านการมีกิจกรรมทางกาย และออกกำลังกายทุกกลุ่มวัย (เพลง Long Life…Thai Fit) รณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างกระแส และสื่อสารสร้างการรับรู้ความรอบรู้สุขภาพการมีกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายทาง Social ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มก้าวท้าใจ ส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ผ่าน E-learning ในดิจิทัลแพลตฟอร์มก้าวท้าใจ เพื่อส่งเสริมให้ประชากรไทยมีพฤติกรรมการออกกำลังกาย โดยสิ่งที่ประชาชนจะได้รับ ดังนี้ 1) มีรูปแบบการออกกำลังกายแบบใหม่เป็นทางเลือกให้ประชาชนออกกำลังกาย 2) มีเครื่องมือส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่ประชาชนสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยการส่งผลออกกำลังกาย สะสมแต้มสุขภาพ แลกของรางวัล 3) ประชาชนสามารถประเมินและติดตามภาวะอ้วนได้ด้วยตนเอง และ 4) มีสื่อความรอบรู้และองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง
“นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้เปิดอาคารบ้านรื่นรมย์ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ (Caregiver) โดยมีห้องส่งเสริมสุขภาวะ (Wellness Room) ซึ่งจะแบ่งออก 2 โปรแกรม ได้แก่ 1) โปรแกรมฝึกฝนกิจวัตรประจำวันผู้สูงอายุ (ADL Training Program) 2) โปรแกรมเวชศาสตร์วิถีชีวิตผู้สูงอายุ (Elderly Lifestyle Progam) ซึ่งในภายอาคารยังมีห้องนันทนาการ (Main Room) สำหรับผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1) คัดกรองสุขภาพ (Health Station) 2) สูงวัยฟันดี 80 ปี 20 ซี่ 3) ฟื้นฟูสมรรนะทางกายและกล้ามเนื้อมัดเล็ก 4) เมนูชูสุขภาพ 5) เกมบริหารสมอง 6) ศิลปะ และดนตรีบำบัด และ 7) อาหารเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรงตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าว