กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ให้การปรึกษา โรคทางพันธุกรรมระดับเขต ปีงบประมาณ 2567
|
ในวันนี้ (5 มิถุนายน 2567) นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ให้การปรึกษาโรคทางพันธุกรรมระดับเขต ปีงบประมาณ 2567 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ วันที่ 5 – 7 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร โดยมีนายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัยและผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ เป็นผู้กล่าวรายงาน ร่วมด้วยวิทยากรจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลสุรินทร์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา และโรงพยาบาลปทุมธานี ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยสูติแพทย์ กุมารแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ จากตัวแทนเขตสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 1 – 12 และสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง จำนวน 60 คน
ในการนี้นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ได้กล่าวรายงานสถานการณ์และชี้แจงวัตถุประสงค์ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และทักษะการให้การปรึกษาโรคทางพันธุกรรมและโรคติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ครอบคลุม โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม เชื้อเอชไอวี ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบบี รวมถึงการคัดกรองสารเสพติดในหญิงตั้งครรภ์ และคาดหวังในการเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพของการให้บริการได้อันจะส่งผลให้เด็กที่เกิดมานั้นมีคุณภาพในการเกิดทุกราย ไม่มีความพิการ หรือเสี่ยงต่อโรคที่จะทำให้สุขภาพอ่อนแอ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของระบบบริการด้านอนามัยแม่และเด็กได้อีกด้วย”
สอดคล้องกับนโยบายของกรมอนามัย ในการเพิ่มคุณภาพในเด็กเกิดใหม่ ทั้งนี้นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า “จากสถานการณ์ ทั้งเรื่องหญิงตั้งครรภ์ และเรื่องเด็ก ที่ยังมีข้อท้าทาย เช่น หญิงตั้งครรภ์ ฝากครรภ์ครั้งแรกเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 12 สัปดาห์ คิดเป็นร้อยละ 70.05 ในปี 2566 แต่ก็ยังพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะโลหิตจางถึงร้อยละ 29.4 ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาและยังสูงกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งภาวะดังกล่าวส่งผลต่อการตั้งครรภ์ทั้งแม่และลูกน้อยในครรภ์ การคัดกรองโรค เป็นกิจกรรมบริการตามมาตรฐาน งานอนามัยแม่และเด็ก ซึ่งในปัจจุบันทางหน่วยบริการก็ทำได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย การคัดกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ การคัดกรองสถานะการติดเชื้อเอชไอวี ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบบีในหญิงตั้งครรภ์ และปัจจุบันการดูแลรักษาโรคดังกล่าวก็มีประสิทธิภาพครอบคลุม ทั่วถึง และในการประชุมครั้งนี้ ท่านอธิบดี กรมอนามัย ท่านให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยคาดหวังว่าเราจะรื้อฟื้น และสร้างความแข็งแรง ของครู ก. ระดับเขต ในการผู้ให้การปรึกษาโรคทางพันธุกรรมและนำไปขยายต่อให้ภาคีเครือข่ายในการจัดให้บริการได้ตามมาตรฐาน และเกิดประสิทธิผล แก่ผู้รับบริการ” เพื่อเป็นเป้าหมายที่จะทำให้อัตราการเกิดอย่างมีคุณภาพในเด็กไทยเพิ่มสูงขึ้นในลำดับต่อไป