
|
โรคตา
ในขณะที่คนเรามีอายุมากขึ้น
กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ยืดหดเลนส์ลูกตา จะอ่อนกำลังลงทำให้ลำบากในการเพ่งดูสิ่งของ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุเล็กๆ โดยสายตาจะยาวออก และคนที่มีประวัติสายตาสั้นเวลามองสิ่งของใกล้ๆ
กลับต้องถอดแว่นตาออก เมื่อสูงอายุ ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นธรรมดาของร่างกายมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละคน
วิธีป้องกันไม่ให้สายตาเสื่อมเร็ว
- ไม่อยู่ในที่มีแสงสว่างมาก เช่น ถ้าแสงแดดจ้าควรใส่แว่นกันแสง
- รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ การขาดวิตามินเอ ขาดโปรตีนทำให้ตาเสื่อมเร็ว
- ระวังอย่าให้แสงแดด หรือแสงเชื่อมโลหะเข้าตาต้องใช้แว่นกันแสง
- การดูทีวี ต้องนั่งระยะห่าง 5 เท่า ของขนาดจอโทรทัศน์ จึงจะไม่เกิดอันตราย
เพราะภาพจะตกที่จะรับภาพพอดีโดยไม่ต้องเพ่ง
- ผู้สูงอายุควรใช้แว่นตาช่วยสำหรับอ่านหนังสือระยะใกล้ มิฉะนั้นจะมีอาการปวดตา
และปวดศีรษะเพราะเพ่งสายตามาก
โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
- ต้อกระจก เกิดขึ้นเนื่องจากเลนส์ตามัวลงทีละน้อยจนทำให้มองไม่เห็นในที่สุด
รักษาโดยการผ่าตัดเอาต้อออกและใส่แว่นตาช่วย
- ต้อหิน เกิดจากแรงดันภายในลูกตา ถ้าทิ้งไว้จะทำให้ตาบอดได้
โดยจะมีอาการมองเห็นเพียงบางส่วน การมองเห็นสิ่งต่างๆ ลำบาก เดินชนสิ่งของ
หรือหกล้มได้ รักษาโดยการหยอดตา ถ้าจำเป็นอาจต้องผ่าตัด
- โรคเบาหวาน จะนำไปสู่การทำลายเรติน่า หรือจอรับภาพภายในลูกตา
ซึ่งเป็นส่วนที่มีความไวต่อแสงมาก ถ้าไม่สามารถควบคุมเบาหวานได้อาจทำให้ตาฝ้ามัว
มองเห็นไม่ชัดเจน และตาอาจเสียได้ รักษาโดยการเยิงด้วยแสงเลเซอร์
- โรคความดันโลหิตสูง ก็จะนำไปสู่การทำลายเรติน่าได้เช่นกัน
ดังนั้นผู้สูงอายุจะต้องควบคุมความดันเลือดมีให้สูง ซึ่งจะป้องกันตาเสียได้
โรคต้อกระจก
โรคตาที่เป็นกันมากที่สุดในผู้สูงอายุคือ
ต้อกระจก เมื่ออายุมากขึ้น แก้วตาจะเปลี่ยนจากสีใสๆ เป็นสีน้ำตาล หรือสีขาวขุ่นมาขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้แสงผ่านเข้าไปในตาไม่ได้มีผลทำให้ตามัวลงๆ
อาการ
- ตามัวลงเรื่อยๆ โดยในระยะแรกๆ นั้นตาจะมัวเฉพาะเวลาออกแดด พอเข้าที่สลัวๆ
จะมองเห็นได้ดีกว่า พอเป็นมากขึ้นก็จะมัวทั้งในที่สว่างและสลัว จนในที่สุดจะมองเห็นแค่แสงไฟ
และสามารถบอกได้แต่ทิศทางของแสงที่ส่องเข้าตาเท่านั้น
- เมื่อต้อแก่มากขึ้น รูม่านตาซึ่งเดิมมีสีดำสนิทจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น
หรือสีน้ำตาลขุ่น
สาเหตุ
- โดยทั่วไปเป็นการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น
- เกิดจากพิษของยาบางส่วน เช่น การใช้ยาพวกสเตียรอยด์นานๆ ยาฆ่าปลวกบางชนิด
- การขาดสารบางชนิด เช่น แคลเซียม
- โรคบางโรคทำให้เกิดต้อกระจกเร็วขึ้น เช่น เบาหวาน ฯลฯ
- อุบัติหตุ มีการกระแทก หรือมีบาดแผลทะลุที่กระจกตาดำ
- เป็นแต่กำเนิด อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือเกิดในเด็กที่มารดาเป็นหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์
3 เดือนแรก
การรักษา
โรคต้อกระจกนี้สามารถรักษาได้โดยการลอกต้อกระจก
ซึ่งทำให้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น เมื่อลอกต้อกระจกออกแล้วใส่แว่นผู้ป่วยจะกลับเห็นชัดได้โดยใช้ยาฉีดเฉพาะที่ไม่ต้องดมยาสลบ
ทำเสร็จแล้วต้องนอนรักษาอยู่ในโรงพยาบาลระยะหนึ่ง
ข้อควรปฏิบัติ
ถ้าคิดว่าเป็นต้อกระจกในระยะแรก
ควรได้รับการตรวจจากแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่า สายตาที่มัวลงนั้นเป็นเพราะต้อกระจกจริง
ไม่ใช่เกิดจากโรคอื่น เช่น ต้อหินเรื้อรัง หรือโรคของจอประสาทตา
ถ้าพบว่าต้อกระจกอยู่ในระยะที่สุกแล้ว คือ รูม่านตามีสีขุ่นขาว หรือสีน้ำตาลเข้มแล้วควรไปพบแพทย์
เพื่อรับการลอกต้อกระจกออกก่อนที่จะมีโรคแทรกซ้อน
ข้อเสียถ้าปล่อยไว้จนสุกเกินไป
1. ทำให้เกิดต้อหิน ซึ่งมีอาการปวดตาและทำให้ตาบอดสนิทได้โดยไม่มีทางแก้ไข
2. ทำให้เป็นโรคม่านตาอักเสบแทรกขึ้นมาได้
3. ทำให้การผ่าตัดลอกต้อออกยากขึ้น
มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้มากขึ้น
หมายเหตุ อันตรายที่เกิดจากการรักษาที่ไม่ถูกวิธี
ในปัจจุบัน มีหมอชาวบ้านรักษาต้อกระจก
โดยใช้เข็มทิ่มแทงให้แก้วตาตกไปอยู่ในลูกตาส่วนหลัง ซึ่งผู้ป่วยอาจจะมองเห็นได้ทันที
แต่จะตาบอดในเวลาต่อมาภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปี นอกจากตาบอดแล้วจะมีอาการปวดร่วมด้วย
จึงควรแนะนำประชาชนให้ทราบเพื่อจะไม่ได้หลงผิด ไปรักษาด้วยวิธีดังกล่าว
โรคต้อหิน
คือโรคที่เกิดจากภาวะความดันในลูกตาสูงกว่าปกติ
ภายในลูกตาของคนเรา จะมีการผลิต หรือสร้างน้ำใสชนิดหนึ่ง ออกมาอยู่ในช่องหลังม่านตา
แล้วไหลผ่านรูม่านตาออกมาอยู่ในช่องหน้าม่านตา ต่อจากนั้นน้ำในนี้ก็จะไหลผ่านรูตะแกรงเล็กๆ
เข้าสู่เส้นเลือดดำของลูกตา จึงทำให้ความดันลูกตาคงที่อยู่ตลอดเวลา ถ้ามีอะไรขัดขวางทางเดินของน้ำในลูกตา
จะเกิดการคั่งของน้ำภายในลูกตาทำให้ความดันภายในลูกตาสูง เรียกว่า ต้อหิน
ต้อหิน มี 2 ชนิด
- ต้อหินแบบเฉียบพลัน เกิดจากการไหลเวียนของน้ำใสในลูกตาไม่สะดวกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้มีอาการตาแดง
รูม่านตาขยาย ปวดตามาก คลื่นไส้ อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย จะเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ
สายตาจะมัวลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที จะทำให้ตาบอดได้ภายใน
2-3 วัน
- ต้อหินชนิดเรื้อรัง เกิดจากความเสื่อมของทางไหลผ่านของน้ำใสภายในลูกตาต้อหินชนิดนี้ไม่มีอาการเจ็บปวด
เกิดขึ้นช้าๆ โดยไม่รู้ตัว สายตาจะค่อยๆ มัวลง จากขอบเขตของการมอง
ต้อหินชนิดอื่นที่พบ
- ต้อหินชนิดเป็นแต่กำเนิด อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ เมื่อเป็นนานเข้ากระจกตาจะใหญ่ขึ้น
ขุ่นและบอดสนิท
- ต้อหินที่เกิดขึ้นเนื่องจากได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เช่น
ถูกตี ถูกแทงทำให้เกิดการอักเสบภายในลูกตา หรือตาเป็นต้อกระจกแล้วไม่ได้รับการรักษา
การใช้ยาหยอดตาประเภทสเตียรอยด์เป็นเวลานานเกินไป จะเกิดโรคต้อหินได้
(เพราะยาประเภทนี้ ทำให้ความดันในลูกตาสูงกว่าปกติ)
การป้องกัน
ผู้ที่มีอายุเกิน 40
ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจตาจากจักษุแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าความดันภายในลูกตา
อยู่ในระดับปกติอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง นอกจากนั้นควรถนอมดวงตาให้ดีที่สุด
หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนต่างๆ เมื่อมีอาการผิดปกติของตาควรพบจักษุแพทย์โดยเร็วที่สุด
ไม่ควรหยอดตาด้วยยาสเตียรอยด์โดยแพทย์มิได้สั่ง เพราะยาประเภทนี้ทำให้ความดันภายในลูกตาสูงกว่าปกติ
การรักษา
ต้อหินเป็นโรคที่ร้ายแรงทำให้ตาบอดได้ในเวลาอันรวดเร็ว
จึงควรพบจักษุแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด ถ้าเป็นมากจนประสาทตาเสียไปแล้ว
สายตาจะไม่กลับคืนมา นอกจากการรักษาเบาหวานให้หายแล้ว (ในรายที่เป็นเบาหวานร่วมด้วย)
จักษุแพทย์จะรักษาด้วยแสงเลเซอร์ เพื่อช่วยป้องกันให้โรคลุกลามมากขึ้น และเพื่อความแน่นอนและปลอดภัยของดวงตาควรปรึกษาจักษุแพทย์เมื่อมีอาการเหล่านี้
- เห็นอะไรลอยไปลอยมาในลูกตา เกิดจากความเสื่อมของน้ำวุ้นในลูกตา
- เห็นแสงแวบๆ ในลูกตา แสดงว่ามีอะไรไปกระตุ้นประสาทจอรับภาพ ทำให้เกิดแสงสว่างเป็นการเตือนว่าประสาทตาหลุด
- การที่มีน้ำตาไหลเป็นประจำ เกิดจากมีการระคายเคืองของเนื้อเยื่อหุ้มตา
ความดันลูกตาสูง การเสื่อมของเยื่อหุ้มตา และการอุดตันของท่อทางเดินน้ำในตา
- ตามัว อาจจะเกิดจากโรคเบาหวานซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตาบอด โรคเบาหวาน
ถ้าเกิดระยะเวลายิ่งนาน ยิ่งทำให้จอรับภาพถูกทำลายมาก จนในที่สุดตาจะบอดสนิท
|